เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 4

6
[308] อัปปมัญญา1 4
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน2 ทิศเบื้องล่าง3 ทิศเฉียง4 แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ5 ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
2. มีกรุณาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยมุทิตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
3. มีมุทิตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
4. มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/125/190-193
2 ทิศเบื้องบน หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา 1/254/435)
3 ทิศเบื้องล่าง หมายถึงนรกและนาค (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา 1/254/435)
4 ทิศเฉียง หมายถึงทิศย่อยของทิศใหญ่หรือทิศรอง (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา 1/254/435)
5 มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจร และชั้นอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่ม
กิเลสได้ และหมายถึงฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. 12/92)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :280 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 4

7
อรูป1 4
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ อยู่
เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดย
ประการทั้งปวง
2. ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตน-
ฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
3. ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตน-
ฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่
4. ล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานอยู่

8
อปัสเสนธรรม2(ธรรมเป็นดุจพนักพิง) 4
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาแล้วเสพอย่างหนึ่ง
2. พิจารณาแล้วอดกลั้นอย่างหนึ่ง
3. พิจารณาแล้วเว้นอย่างหนึ่ง
4. พิจารณาแล้วบรรเทาอย่างหนึ่ง

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ม. (แปล) 10/129/75
2 ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) 24/20/40

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :281 }